Thursday, March 18, 2010

เลี้ยงปลาสวยงามทำไมตายง่ายจัง...วิธีแก้ปัญหาต้องอย่างง่าย




การดูแลเอาใจใส่ปลาสวยงามเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันโรคและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับปลาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงน่าจะมาทำความรู้จักกับวิธีง่ายๆ ในการดูแลเอาใจใส่ปลาเพื่อทำให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่ายอาการของปลาป่วยสังเกตได้อย่างไร
สังเกตได้ไม่ยาก คือ ความผิดปกติของตัวปลาหรือพฤติกรรมของปลาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างความผิดปกติที่เกี่ยวกับปลาสวยงามได้แก่ สีของปลา การกางของครีบ เมือกตามลำตัว หรือสิ่งแปลกปลอมที่พบอยู่บริเวณภายนอกตัวปลา พฤติกรรมที่ปลาแสดงออกและสังเกตได้ว่าปลามีความผิดไปจากเดิม เช่น ลักษณะการว่ายน้ำ ความก้าวร้าว การอยู่แต่ผิวน้ำหรือที่พื้นตู้ การว่ายน้ำในลักษณะที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ การว่ายน้ำเป็นวง การว่ายไล่ปลาตัวอื่น การว่ายน้ำในลักษณะตั้งฉากกับผิวน้ำ หรือว่าการว่ายน้ำแบบเสียสมดุลย์ คือเอียงข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบอกเหตุและอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ปลาป่วยในเวลาต่อมาความสำคัญของการจัดการในเรื่องคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา
การจัดการในเรื่องน้ำที่ใช้เลี้ยงเป็นวิธีการที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกเมื่อปลาเริ่มมีอาการผิดปกติ การเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้คุณภาพของน้ำดีขึ้น แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายด้วย
การดูดตะกอนจากเศษอาหารเหลือหรือของเสียที่ตกอยู่บริเวณพื้นตู้ ก็เป็นวิธีการที่ช่วยกำจัดของเสียและลดปริมาณเชื้อในตู้ปลา ของเสียจากอาหารที่เหลือหรือสิ่งขับถ่ายจากตัวปลาจะทำให้คุณภาพของน้ำต่ำลง การเปลี่ยนถ่ายน้ำและการดูดเศษตะกอนในตู้ปลาสวยงามเป็นการควบคุมคุณภาพของน้ำทางตรง นอกจากนี้เรายังสามารถควบคุมคุณภาพของน้ำทางอ้อมได้โดยการคุมปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงามอีกทางหนึ่งการป้องกันการเกิดโรคง่ายกว่าการรักษาโรค
ในกรณีที่ปลาป่วย การรักษาโดยการใช้ยาหรือสารเคมีคงยังมีความจำเป็นอยู่ แต่การรักษาที่โรคได้ผลนั้น จะต้องอาศัยการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจากผู้ที่มีความรู้และความชำนาญในการวินิจฉัยโรค การเลือกใช้ยาหรือสารเคมีที่เหมาะสมในการรักษา การจัดการดูแลปลาป่วยในขณะที่ทำการรักษา การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องในการรักษาโรค ทำให้การรักษาไม่หาย ในการใช้ยาไม่ถูกต้อง ได้แก่ การใช้ยาโดยไม่ทราบ สาเหตุที่ทำให้ปลาเป็นโรค หรือการรักษาไม่ตรงกับโรค ทำให้อาการป่วยของปลาไม่ดีขึ้น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อปลา และอาจทำให้ปลาตายได้ผลของการใช้ยาไม่ถูกต้อง
ปัญหาในการรักษาแล้วไม่หาย หรือที่เรียกกันว่าเกิดการดื้อยา ทำให้ไม่สามารถใช้ยาชนิดเดิมในการรักษาโรค ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน การตกค้างของยาในตัวปลา ซึ่งในปลาสวยงามมักจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหากับปลาที่ใช้ในการบริโภคเป็นอาหาร เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ น้ำที่มียาก็จะลงสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมมีการปนเปื้อนของยาที่ใช้ในการรักษาโรค ซึ่งยาที่ตกค้างมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมได้มีผลต่อการปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ ยาหลายชนิดถูกพบว่าเป็นสารที่มีแนวโน้มก่อมะเร็ง สารที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อที่ดื้อยาในสัตว์น้ำสามารถถ่ายทอดการดื้อยาสู่เชื้อที่ก่อให้เกิดในมนุษย์ได้ ทำให้เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ดื้อยาแม้ว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ไม่ได้สัมผัสกับยาโดยตรง
ที่มา...FANCY FISH คลังสมองของนักนิยมปลาสวยงาม ปีที่6 ฉบับที่63 ประจำเดือนมกราคม
เห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาฝากกันคับ สำหรับผู้ที่นิยมปลาสวยงาม

No comments:

Post a Comment